วัดจองตก หรือ วัดต้นรุง
วันนี้พามาเที่ยว วัดจองตก ค่ะ วัดแฝดกับวัดจองออก ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน แต่น่าเสียดายที่วัดจองออก ได้รับความเสียหายจากเหตุไฟไหม้เมื่อหลายปีก่อน จึงเหลือแต่วัดจองตก ที่ยังคงรักษาความสวยงามของสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ เนื่องจากบริเวณนี้จะมีชาวไทยใหญ่มาอยู่อาศัยกันมาก โดยเฉพาะช่วงงานบุญใหญ่ จะมีชาวไทยใหญ่นิยมมาทำบุญกันมากหน้าหลายตาที่วัดแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบรรดาชาวพุทธแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีความสวยงาม หากได้เดินทางมาอำเภอฝาง ไม่ควรพลาดที่จะมากราบพระ และชมความสวยงามของวัดแห่งนี้ค่ะ
ประวัติความเป็นมา
“วัดจองตก” หรือ วัดต้นรุง ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอฝาง ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์พระเจ้าฝาง – พระนางสามผิว ถูกสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 โดยชาวไทยใหญ่ ชื่อ นายจองจาย ปานหมอก พร้อมญาติมิตรหลายครอบครัว ชาวไทยใหญ่กลุ่มนี้ได้อพยพมาจากเชียงของ รัฐฉาน ประเทศพม่า
แต่เดิมวิหารและอุโบสถสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยสังกะสี หลังคาพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่ 5 องค์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรไฟไหม้เสียหายหมด จึงได้มีการสร้างขึ้นใหม่เป็นตึกชั้นเดียว ทรงเดิม มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร ผนังก่ออิฐฉาบปูน ภายในตกแต่งสวยงาม
แต่เดิมก่อนนั้นมีวัดชาวไทยใหญ่เพียงวัดเดียว คือวัดจองแป้น (จองออก) ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับวัดจองตก เมื่อมีผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้นในทางทิศตะวันตกของวัดเดิม เพื่อที่จะเรียกชื่อวัดได้ถูกต้องและเข้าใจง่าย จึงให้ชื่อว่า “วัดจองตก”
สำหรับคำว่า “จอง” เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า ที่อยู่อาศัย ซึ่งหมายถึง วัด หรือบ้านก็ได้ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยของพระ ก็หมายถึงวัด ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยของคน ก็หมายถึงบ้าน
ส่วนชื่อว่า วัดต้นรุง เนื่องมาจากบริเวณหน้าวัดแห่งนี้มีต้นนกสร่างขึ้นอยู่หลายต้น ชาวไทยใหญ่เรียกต้นนี้ว่า “ต้นไม้ฮุง” ชาวบ้านจึงเรียกว่าติดปากว่า วัดต้นรุง เป็นต้นมา