บ้านใหม่พัฒนา(นานาเผ่า)
สัมผัสวิถีชีวิตชาวไทยภูเขา ที่มีเอกลักษณ์ทางภาษา การแต่งกาย ซึ่งเป็นการแต่งกายที่แตกต่างไปจากชาวเขาเผ่าอื่นๆ ท่านสามารถเยี่ยมชมหมู่บ้านได้ที่ บ้านท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
บ้านใหม่พัฒนา (นานาเผ่า) ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 บ้านเมืองงาม ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ชมวิถีชีวิตของชนเผ่า กะเหรี่ยงคอยาว ปะหล่อง กะยอ อาข่า และลาหู่ ทางเข้าหมู่บ้านเป็นทางแคบ ลาดยางช่วงเดียว ที่เหลือเป็นทางลูกรัง รถยนต์เข้าไปได้ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
เปิด ให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น.
นักท่องเที่ยว สามารถซื้อสินค้าที่ระลึกของแต่ละชนเผ่าได้ภายในหมู่บ้าน
ร้านจำหน่ายของฝาก ของที่ระลึก ฝีมือชาวบ้านหลากหลายเผ่าให้เลือกมากมาย
ชาวกระเหรี่ยงกลุ่มนี้อพยพมาจากประเทศพม่า สิ่งที่น่าสนใจคือ การแต่งกายของผู้หญิงเผ่านี้ คือการนำห่วงทองเหลืองมาสวมคอ จึงทำให้มองดูคอยาวกว่าคนปกติ
มีตำนานเล่ากันมานานหลายตำนาน อย่างเช่น
ลวดทองเหลืองที่พันคอชาวกระเหรี่ยงคอยาวนั้น เมื่อก่อน ชาวปะด่องได้ไปเห็นหงส์ที่แสงสวยงามเข้า จึงอยากให้คอของตัวเองมีความอ่อนช้อย งดงามดังหงส์จึงเขาขดลวดมาพันคอ
ตำนานที่ 2
ชาวปะด่องนั้นอาศัยอยู่ในป่า มีภูติผีอยากให้ชาวปะด่องตายทั้งหมด จึงแปลงร่างมาเป็นเสือเพื่อกินผู้หญิงชาวปะด่อง จะได้ไม่มีไว้สืบลูกหลาน ผู้หญิงชาวปะด่อง จึงต้องป้องกันตัวโดยการพันโลหะไว้รอบคอ แขน และขา กันเสือกัดตาย
ตำนานที่ 3 ชาวปะด่องนั้น โดนพม่ารุกรานมาตีบ้านเกิดเมืองนอน มีเจ้าหญิงกับข้าราชบริพารบางส่วนที่หลบหนีออกมาได้ วันที่หนีมา องค์หญิงได้มีพืชชนิดหนึ่งสีเหลืองทอง ชื่อว่า ปะด่อง คล้องที่พระศอ (คอ) ก็ได้ทรงประกาศว่า " หากวันใดที่ยังไม่ได้กลับมาเป็นใหญ่ในบ้านเกิดเมืองนอน ตราบนั้น จะไม่เอาพืชนั้นออก" แล้วจึงเป็นวัฒนธรรมที่วิวัฒนาการมาเป็นลวดทองเหลืองในปัจจุบัน
|
มีห่วงสำหรับกดล๊อคลวดทองเหลืองไม่ให้ขยับไปมาได้ |
ปัจจุบันไม่ได้บังคับเป็นกฏว่าต้องใส่กัน ใครจะไม่ใส่ก็ได้ แต่ชาวประด่องส่วนใหญ่ ยังคงดำรงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมสืบทอดต่อๆกันมา ใครสนใจ ทดลองใส่ดูได้ ขอยืนยันว่าหนักจริงๆ
ลาหู่เป็นชนเผ่าที่ใฝ่ในพรเป็นที่สุด พรให้อยู่เย็นเป็นสุข สมบูรณ์ด้วยพลานามัยและข้าวปลาอาหาร คำส่งพรในภาษาลาหู่ คือบนหรือเอาบนซึ่งเพี้ยนมาจากคำไทยใหญ่ บุญแต่ความหมายหมายของคำว่าบนนี้กว้างกว่าบุญ เพราะเมื่อประกอบกับคำอื่นก็มี ความหมายได้สารพัด เช่น เอาบนเจาแปลว่า"มีค่า" บนเต แปลว่า การทำบุญ บนเล่าหรือบนภู่ แปลว่า "อธิษฐาน" บนนา แปลว่า "อวยพร" บนมาดา แปลว่า"โชคร้าย" และบนมา "เทศนาสั่งสอน " ชาวลาหู่ มักเรียกตนเองว่า บนผา ซึ่งแปลตรงตัว "บุตรแห่งพระ" และในคำอธิษฐานเอ่ยถึง บนจา "เสาะหาพร" เพราะคนลาหู่ไม่ว่าจะพวกใด ศาสนาใด ต่างมุ่งหวังในความอยู่ดีมีสุขทุกผู้ทุกนามพลเมืองเผ่านี้เรียกตนเองว่า "ลาหู่" ไทยใหญ่เรียกพวกเขาว่า "มูเซอ" ซึ่งเป็นคำฉานยืมมาจากภาษาพม่าแปลว่า "พราน" หรือ "นักล่า" ภาษาล่าหู่จัดอยู่ในสาขา ยิ ของตระกูลธิเบตพม่า ในเมืองไทยมีล่าหู่ห้ากลุ่ม ซึ่งพูดจาแตกต่างกันเป็นห้าสำเนียง จัดเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ลาหู่นะ (ลาหู่ดำ) และลาหู่ชี (ลาหู่เหลือง) โดยลาหู่นะเป็นสำเนียงมาตรฐาน หรือภาษากลางของชาวลาหู่ไม่ว่าจะที่อยู่ในแคว้นยูนาน พม่า ลาว หรือไทยและกลายเป็นภาษากลางของชนต่าง ๆ เผ่าบนภูเขา รวมทั้งพวกฮ่อด้วย ต้นกำเนิด หลักฐานเอกสารที่เก่าที่สุดเราหาได้ระบุถิ่นฐานของลาหู่ว่าอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้อพยพลงมาทางใต้อยู่หลายชั่วคนแล้วประมาณ พ.ศ. 2383 ก็ได้เข้ามาอยู่แถวอำเภอฝางในประเทศไทย บ้างก็เข้าไปอยู่ในลาว
ในอดีตลาหู่ทอผ้าใช้เอง แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่มีใครทอผ้าใช้เอง นอกจากจะทอพวกของใช้ที่มีขนาดเล็กๆ เช่น ย่าม หรือสายสะพายย่ามเท่านั้น เสื้อผ้าของลาหู่จะใช้ผ้าดำ หรือผ้าสีฟ้าซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นลาหู่กลุ่มใด และตกแต่งด้วยผ้าหลากสีเป็นลวดลายสวยงาม ลาหู่มีหลายกลุ่ม รูปแบบของตัวเสื้อและลายบนเสื้อผ้าจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มจะนุ่งซิ่นเช่นเดียวกัน เสื้อของหญิงลาหู่ดำจะมีสองตัว ตัวในจะเป็นเสื้อแขนยาวตัวสั้นแค่เอว ส่วนตัวนอกจะเป็นเสื้อแขนยาวตัวเสื้อยาวถึงน่อง ตกแต่งด้วยผ้าหลากสีและเครื่องเงิน สำหรับเสื้อผ้าของผู้ชายลาหู่ทุกกลุ่ม ทั้งเสื้อและกางเกงจะใช้ผ้าสีดำ ใช้ผ้าสีต่างๆ ทำเป็นแถบยาวซ้อนกันบริเวณปลายขากางเกง ปลายแขนเสื้อ และด้านหน้าตัวเสื้อ แต่จะไม่มีลวดลายมากเหมือนกับเสื้อผ้าของผู้หญิง ผู้ชายลาหู่สวมถุงน่องด้วยในขณะที่ผู้หญิงไม่สวม
ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิง
ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงคือสวมใส่เสื้อแขนยาว สวมผ้าถุงยาวถึงข้อเท้า ตกแต่งด้วยแถบผ้าสีต่างๆและ มีเม็ดอลูมิเนียมเล็กๆ เย็บติดเสื้อ และมีสวดลายต่างๆ แปะติดไว้ด้านหน้าและด้านหลังอย่างสวยงาม
ลักษณะการแต่งกายของผู้ชาย
ลักษณะการแต่งกายของผู้ชายคือสวมใส่เสื้อแขนยาวสีดำ ประัดับด้วยเม็ดโลหะเงินและลายปักต่างๆ ส่วนกางเกงใช้สีดำ สีเขียว สีฟ้า เย็บปักด้วยมือที่สวยงาม
เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เรียกตนเองว่า "อาข่า" คนไทย และคนเมียนมาร์ เรียกว่า "อีก้อ" หรือ "ข่าก้อ" ลาวและชนชาติอินโดจีนตอนเหนือ เรียกอีก้อว่า "โก๊ะ" คนจีนเรียกว่า "โวนี" หรือ "ฮานี" ซึ่งหมายรวมถึงชนเผ่าที่พูดภาษาโลโล ในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ด้วย มีอีก้อบางกลุ่มที่อพยพเข้ามายังประเทศไทยล่าสุด คือพวกที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาของจีน เข้ามายังประเทศลาวก่อน เมื่อลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็อพยพเข้ามายังประเทศไทย เพื่อหาที่ทำมาหากินใหม่ โดยอพยพเข้ามาทางเชียงแสนแล้วมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาหมีเขต อ.แม่สาย จ.เชียงราย และอีกกลุ่มอพยพจากดอยผาหมีออกไปตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าฮี และหมู่บ้านน้ำริน ห่างจากผาหมีประมาณ 5 กม. รวมทั้งที่ บ้านท่าตอน อ.แม่อาย
การแต่งกาย
เมื่อสาวอาข่าแต่งตัวครบเครื่องจะสวยน่าตะลึงลานตั้งแต่ศีรษะจดเท้า เครื่องแต่งกายของหญิงอาข่าประกอบด้วยหมากที่ประดับและตกแต่งเต็มที่ด้วยเหรียญและเครื่องเงิน เสื้อตัวสั้นที่ปะด้วยเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย หลากสีที่ด้านหลัง ซึ่งสวมคลุมทับกระโปรงสั้นเหนือเข่า มีผ้าคาดเอวซึ่งแต่งชายงดงาม และรัดน่องที่ปะและตกแต่งลวดลายสวยงามคล้ายด้านหลังเสื้อ
ส่วนผู้ชายอาข่าจะสวมเสื้อคอกลม แขนยาว ผ่าหน้า ซึ่งมีรายละเอียดของแบบและการประดับประดาหลากหลาย ใช้ลวดลายและสีสันเช่นเดียวกับเสื้อสตรี ส่วนกางเกงขาก๊วยไม่มีการตกแต่ง ในบางโอกาสจะใช้ผ้าโพกศีรษะสีดำ พันอย่างเรียบร้อยแน่นหนาจนถอดและสวมได้คล้ายหมวก
เครื่องประดับนั้นส่วนใหญ่จะถูกเย็บติดกับเสื้อผ้า แต่ก็ยังนิยมสวมเครื่องเงินเป็นกำไลคอและข้อมือ รวมทั้งนิยมประดับหมวกด้วยเครื่องเงิน
เด็กผู้หญิงจะเริ่มเจาะหูตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แล้วก็จะเริ่มสอดห่วงให้รูหูใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ สงสัยวัยรุ่นสมัยนี้ที่ระเบิดหูกัน เลียนแบบ กะเยอ นี่เอง อิอิ
ดาราอั้ง หรือปะหล่อง
ปะหล่องเป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากพม่า เข้าสู่ไทยเมื่อประมาณปี ๒๕๑๑ เรียกตัวเองว่า " ดาระอัง" (Da - ang , Ra – ang , Ta - ang) คำว่า "ปะหล่อง" เป็นภาษาไทยใหญ่ซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มนี้ นอกจากนั้นยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น ชาวพม่าเรียกปะหล่องว่า " ปะลวง"(Palaung) และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่า "คุณลอย" (Kunloi) ซึ่งมีความหมายว่า คนดอย หรือคนภูเขา แทนคำว่าปะหล่อง
เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับ กล่าวถึงชาวปะหล่องว่าเป็นพลเมือง กลุ่มหนึ่งภายใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวีหนึ่งใน ๙ นครรัฐ ของอาณาจักรไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนชาติไต ครั้งพุทธศักราช ๑๒๐๐โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรในขณะนั้นอยู่บริเวณเมืองแสนหวีในรัฐฉานประเทศพม่า ( รายงานฉบับนี้ กล่าวว่าประหล่องมีฐานเดิมอยู่ในโกสัมพีซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ตรงกันเพราะ คำว่า โกสัมพีเป็นการเรียกนครรัฐแสนหวี และ กับความหมาย ครอบคลุมรัฐฉานทั้งหมดจำนวนประชากรประหล่อง โดยการสำรวจของ องค์การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ณ ประมาณว่ามี ๑ ล้านคน ถิ่นที่อยู่กันหนาแน่น คือบริเวณเทือกเขาในรัฐฉาน แถบเมืองตองแปง น้ำซัน , สีป้อ , เมืองมิต และทางตอนใต้ในรัฐฉานคือ เมืองเชียงตุง นอกจากนั้นยังพบว่า ปะหล่องกระจัดกระจายกันอยู่ทางตอนใต้ของรัฐคะฉิ่น และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของยูนานในประเทศจีน
เมืองเหนือสุดที่ชาวปะหล่องอาศัยอยู่คือ เมืองน้ำคำ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมืองเสียวสีของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ชาวปะหล่องเรียงว่าเมืองมาว ถัดลงมาคือ เมืองน้ำซัน น้ำดู โมโล เมืองมิต เมืองกอก เมืองโหลง น้ำใส มานาม มานพัด จาวุโม ปูโหลง เจียงตอง และตากวาง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ดอยอ่างขาง เขต อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร
การอพยพเข้ามาสู่ไทย
ราวปี ๒๕๑๑ที่ชาวปะหล่องได้เริ่มอพยพเข้าในบางกลุ่มมาจนถึงปี ๒๕๒๗ ได้ปรากฏชาวปะหล่องจำนวน ๒ , ๐๐๐ คน อพยพ มารวมกันที่ชายแดนไทย- พม่า บริเวณดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ฟื้นฟูบ้านนอแล ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของโครงการหลวงดอยอ่างขางสถานการณ์ครั้งนั้นนำความลำบากใจมาสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างยิ่งเนื่องจากกลุ่มอพยพครั้งนี้เป็นชาวปะหล่องจากดอยลาย อยู่ระหว่างเมืองเชียงตอง กับเมืองปั่น เขตเชียงตุง ฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงถือ เป็นบุคคลอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
สาเหตุของการอพยพสืบต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ในประเทศพม่าเมื่อประเทศอังกฤษคืนอิสรภาพมีผลทำให้เกิดความระส่ำระสายไปทั่วเกิดการขัดแย้งและสู้รบกันตลอดเวลา ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติกับทหารรัฐบาลพม่าที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ต่างๆ สงครามส่งผลต่อชาวปะ- หล่องทั้งทางตรงและทางอ้อมชาวปะหล่องมีการรวมตัวกันเป็นองค์กร ชื่อองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (Palaung state liberation Organization : PSLO)
มีกองกำลังติดอาวุธประมาณ ๕๐๐ คน องค์กรดังกล่าวเป็นพันธมิตรอยู่ในแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรหลักที่รวมอาองค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยทั้งหมดไว้ในแต่ละครั้งที่เกิดการสู้รบ หรือปะทะกันระหว่างองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่องกับทหารรัฐบาลชาวบ้านประสบความเดือดร้อนมาก ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นพื้นที่ๆชาวปะหล่องอาศัยอยู่ยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว ปฏิบัติงานมวลชนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าทหารฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามาปฏิบัติการโจมตีเพื่อสะกัดกั้นความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติการเหล่านี้มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปะหล่องดอยลายเป็นอย่างมาก
นายคำ เหียง(จองตาล) ผู้นำการอพยพเล่าว่าเมื่อทหาร ของขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่มาตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้านและทหารคอมมิวนิสต์ ก็มาบังคับให้ส่งเสบียงอาหารเป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลพม่าส่งกำลังเข้าปราบปรามชาวบ้านถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมากโดยถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนทหารกู้ชาติและคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้นยังเอาสัตว์เลี้ยงไปฆ่ากินยึดของมีค่า เผายุ้งข้าว ข่มขืนผู้หญิง และบังคับผู้ชายให้ไปเป็นลูกหาบขนอาวุธ เสบียงอาหาร บางคนถูกสอบสวน ทุบตีอย่างทารุณ เพื่อบังคับบอกฐานที่ตั้งของทหารกู้ชาติไทยใหญ่และทหารคอมมิวนิสต์ เมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับความลำบาก นานัปการจึงพากันอพยพหลบหนี จนในที่สุดมาอยู่รวมกันที่ชายแดนไทย - พม่าบริเวณดอยอ่างขาง
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอที่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงดอยอ่าขางปะหล่องคนหนึ่งจึงได้นำความกราบบังคมทูลขออนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นผลให้โปรดเกล้าฯจัดที่อยู่ในฐานะผู้อพยพที่บ้านนอแลจนถึงปัจจุบัน ช่วงที่หมู่บ้านและประหล่องประสบปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากพื้นที่นั้นอยู่ใกล้เขตอิทธิพลขุนส่าทำให้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างกองทัพไทยใหญ่ของขุนส่ากับกองกำลังว้าแดงอันเนื่องมาจากผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นอยู่เนื่องๆ ประกอบกับการขาดแคลนพื้นที่ทำมาหากินและภาวะอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ชาวประหล่อง บางกลุ่มพากันอพยพโยกย้ายหาที่อยู่ใหม่ และกระจายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่หลายพื้นที่ จากการสอบถามชาวประหล่องที่อพยพแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ต่างๆ แต่ ยังทีการเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่พอประมาณได้ว่า ปัจจุบันหมู่บ้านชาวประหล่องอยู่ในพื้นที่อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่อาย จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน
การแต่งกายผู้หญิง
เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ่าอกหน้า แขนกระบอก เอวลอย สีพื้นสดใส ส่วนใหญ่มักเป็นสีดำ สีน้ำเงิน สีเขียวใบไม้ ตกแต่งลายเสื้อด้านหน้า แถบผ้าสีแดงส่วนผ้ายีนที่ทอขึ้นมาเอง สีแดงสลับลายริ้วขาวเล็กๆ ขวาง ลำตัว ยาวคร่อมเท้า โพกศรีษะด้วยผ้าผืนยาว ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าขนหนู ซึ่งซื้อจากตลาดพื้นราบลักษณะที่โดดเด่น คือการสวมที่เอวด้วยวงหวายลง รักแกะลายหรือใช้เส้นหวายเล็กๆ ย้อมสีถักเป็นลายบางคน ก็ใช้โลหะสีเงินลักษณะเหมือนแผ่นสังกะสีมาตัดเป็นแถบยาวตอกลาย แล้วขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน วงสวมเอวเหล่านี้ประหล่องเรียกว่า "หน่องว่อง"
การแต่งกายผู้ชาย
ลักษณะการแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหาลักษณะที่บ่งบอกเอกลักษณ์ได้ ทั้งเด็ก หนุ่มและชายชรา ล้วนแต่งกายแบบคนพื้นราบมีเพียงผู้เฒ่าบางคนเท่านั้นที่ยังคงสูบยาด้อยกล้องยาสูบ ขนาดประมาณ ๑ ฟุต ทำจากไม้แกะสลักเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นปะหล่องแตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ ในประเทศไทย
ภาษา
ชาวประหล่องจะมีภาษาพูดเป็นของตนเอง ที่นักภาษาศาสตร์บางคนจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาประหล่อง - วะ แต่โดยทั่วไปชาวประหล่องสามารถพูดภาษาฉานได้นอกจากนั้นในภาษาปะหล่องยังปรากฎการยิบยืม คำมาจากภาษาต่างๆ มากมาย ทั้งจากภาษาพม่า ภาษาดะฉิ่น ภาษาฉาน และภาษาลีซอ ในการติดต่อกับคนต่างเผ่าประหล่องจะใช้ภาษาไทยใหญ่หรือภาษาฉานเป็นหลักสอนปะหล่องในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นปัจจุบันเด็กๆ และผู้ชายวัยกลางคนมักพูดภาษาไทยเหนือได้บ้างส่วนการสื่อภาษากับผู้หญิงต้องอาศัยล่ามเพราะผู้หญิงฟังภาษาไทยเข้าใจแต่ไม่กล้าโต้ตอบด้วยภาษาไทย
ข้อมูลและรูปภาพบางส่วน จาก เวปสมบูรณ์ทัวร์
และเวป openbase.in.th
นักท่องเที่ยวท่านใดสนใจเข้าชม หมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาว
สามารถติดต่อสอบถาม
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร 081- 9522080