ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ต.แม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย 2 กม. มีทางแยกออก จากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ 16.50 เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง 200 เมตร มีคูเมืองและซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกตได้ ราษฏรถือว่าเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์
ตำนานเวียงมะลิกา
เขียนว่า เจ้าแม่มะลิกา เป็นราชบุตรี ในพระเจ้าฝางและพระนางสามผิว(พระนางสามผิว มีพระฉวีวรรณงดงามในตอนเช้า มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจดอกมะลิ ในเวลาเที่ยงวันพระฉวีวรรณเปลี่ยนเป็นสีแดงดอกกุหลาบ ต่อมาเวลาเย็นพระฉวีวรรณจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีชมพูดุจ ดอกบัวจงกลนี จึงได้พระนามว่า "พระนางสามผิว"
พระนางสามผิวมีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ทรงสักการะบูชาทุกค่ำเช้า วันหนึ่งมี่ขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่องพระสนมเอกของพระเจ้าฝาง เมื่อถึงเวลาถวายเทียนสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแต่พระองค์ยังมิอาจดับพระทัยที่ขุ่นเคืองได้ ขณะที่จุดเทียนถวายสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ และทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท เทียนที่จุดไว้ล้มลงเผาไหมพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา รุ่งขึ้นเวลาเช้าเมื่อพระนางเจ้าเสด็จออกจากที่บรรทมทรงทราบว่าเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ก็ทรงสำนึกความบาปที่กระทำด้วยความประมาท
ครั้นกาลต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ประสูติพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคพระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิที่ควรสมเพชที่พระธิดา มีริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป
เมื่อราชบุตรีทรงวุฒิจำเริญขึ้น พระเจ้าฝาง ทรงเกรงเป็นที่ละอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมือง จึงทรงสร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนีอเวียงสุโท (ใกล้กับเมืองฝาง) และสร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วย คู และปราการล้อมรอบประทานราชบุตรีให้เป็นที่ประทับสำราญ สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า"เวียงมะลิกา" เชื่อว่า เวียงมะลิกาไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนล้วนแต่สตรีเพศ พระแม่เจ้าทรงฝึกฝนสตรีผู้กำยำเป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา จนเป็นที่ลือชา ปรากฏว่าเวียงมะลิกามีคนหาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก
กาลต่อมามีราชบุตรของเจ้าผู้ครองเวียงภูก่ำ(แคว้นไตใหญ่) ได้สดับข่าวเกี่ยวกับ พระเจ้าแม่มะลิกา แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นในราชบุตร พระราชบุตรได้ทรงอ้อนวอนพระเจ้าภูก่ำ ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย พระเจ้าภูก่ำทรงอนุญาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิท ให้ตระเตรียมม้า ต่างอัญมณีเป็นสินค้าโดยเสด็จพระราชบุตร
ข่าวการเสด็จฯของพระราชบุตร ทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระองค์ก็เกิดอางขนางในวันที่พระราชบุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวายอัญมณี แม่เจ้าก็เสด็จหลีกลี้ไปสรงสนานน้ำห้วย และแต่งให้พระพี่เลี้ยงนางเหลี่ยว อยู่เวียงมะลิการับเสด็จพระราชบุตร เมื่อพระราชบุตรในรูปของพ่อค้านายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าแม่เจ้าไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้าจำแลง ก็ลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัยคนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วยนั้นว่า "แม่อาย" จึงได้ชื่อตำบลนี้ว่า "แม่อาย"
ประวัติ เรื่องที่ 2
พระนางมะลิกา เป็นพระธิดาของพระเจ้าอุดมสินแห่งเมืองฝางกับพระนางสามผิว ประสูติราว ปี พ.ศ. 2131 ก่อนตั้งพระครรภ์ พระมารดาทรงสุบินว่า มีช้างเผือกนำดอกมะลิมาถวาย จึงขนานพระนามว่า “ มะลิกา ” ตามพระสุบิน เมื่อพระชันษาได้ 18 ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ได้มีราชบุตรต่างเมืองมาสู่ขอ พระนางไม่สนพระทัย กลับรบเร้าให้พระบิดาสร้างเวียง ( พระตำหนัก )ให้
ใน ปี พ.ศ. 2150 พระบิดาได้ทรงสร้างเวียงขึ้นอยู่ทางทิศเหนือของเมืองฝาง ตั้งอยู่บนเนินเขา มีคูเวียงกำแพงล้อมรอบ มีประตู 4 ด้านให้แก่พระนาง ในวันเดินทางเข้าสู่เวียงใหม่ พระนางได้พาไพร่พลส่วนหนึ่งติดตาม พร้อมกันนั้นได้มีชาวบ้านที่อยู่ในเส้นทางที่ผ่านไปสู่เวียงได้ติดตามไปด้วย ไปถึงเวียงใหม่ได้เวลาพลบค่ำ จึงได้ตั้งชื่อเวียงใหม่นี้ว่า “ เวียงสนธยา ”
ต่อมาในปี 2172 ทัพพม่าได้ยกมาตีเมืองฝาง พระนางมะลิกาได้พาไพร่พลของตนเข้าต่อสู้กับพม่า ช่วยบิดาต้านทานได้ 3 ปี ในที่สุดก็ต้านไม่ไหวเพราะกำลังที่มีน้อย พระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิวมารดาไม่ทรงยอมจำนนต่อข้าศึก ได้กระโดดลงน้ำบ่อซาววาสิ้นพระชนม์ พม่าจึงยกทัพกลับไป
ต่อมาในปี 2172 ทัพพม่าได้ยกมาตีเมืองฝาง พระนางมะลิกาได้พาไพร่พลของตนเข้าต่อสู้กับพม่า ช่วยบิดาต้านทานได้ 3 ปี ในที่สุดก็ต้านไม่ไหวเพราะกำลังที่มีน้อย พระเจ้าอุดมสินกับพระนางสามผิวมารดาไม่ทรงยอมจำนนต่อข้าศึก ได้กระโดดลงน้ำบ่อซาววาสิ้นพระชนม์ พม่าจึงยกทัพกลับไป
ส่วนพระนางมะลิกาได้พาไพร่พลที่เหลือกลับไปตั้งหลักที่เวียงสนธยา และครองเวียงอยู่ได้ 40 ปี ทรงสวรรคตในปี 2190 รวมพระชนมายุได้ 58 ปี พระนางเป็นวีรสตรี เป็นนักรบ และชื่อเวียงก็เปลี่ยนเป็นเวียงสนธยา
ต่อมาได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระนางมะลิกา ประดิษฐานอยู่ที่บริเวณเมืองสนธยา ต.มะลิกา เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพระนาง เป็นอนุสาวรีย์ที่ชาวแม่อายศรัทธาเลื่อมใส เคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และได้จัดให้มีพิธีสรงน้ำ พร้อมกับถวายเครื่องราชสักการะ แด่พระนางมะลิกา เป็นการสืบสานประเพณีในวันสงกรานต์ทุกปีตราบเท่าทุกวันนี้
ขอบคุณภาพจากเวป gotoknow.org/blog/